การหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุ ป้องกันได้ได้วย 4 ข้อคือ "ออก ปรับ ลด เลือก"

พญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวคณะแพทย์ ร.พ.รามาธิบดี เปิดเผยการศึกษาโครงการวิจัย “การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเรื่องมาตรการการป้องกันการพลัดตกหกล้มและโรคสมองเสื่อมสำหรับผู้สูงอายุไทย” สนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุถึงสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังทางสุขภาพให้กับผู้สูงอายุไทย จากข้อมูลโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ที่ศึกษาปัญหาการเจ็บป่วยจากการตรวจร่างกายของผู้สูงอายุไทยปี 2552
         พบว่าขณะนี้มีอุบัติการณ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คือ “การหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุ” ซึ่งผู้สูงอายุบาดเจ็บจากการหกล้ม มีอาการตั้งแต่แผลถลอกเล็กน้อย จนถึงขั้นเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น กระดูกสะโพกหัก เลือดออกในสมองหรือทุพพลภาพ คิดเป็นร้อยละ 12-42 นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อความมั่นใจของผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจาก กลัวว่าตนเองจะบาดเจ็บอีก จึงหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมทำกิจกรรม จนท้ายที่สุดถึงขั้นแยกตัวออกจากสังคมและ นำมาซึ่งภาวะซึมเศร้า หรือ เมื่อหกล้มแล้วบาดเจ็บจนทุพพลภาพ จะทำให้เป็นภาระของครอบครัวและญาติ เรียกง่ายๆ ว่า อยู่ในภาวะพึ่งพิงนั่นเอง
         สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้ม ไม่ใช่เพราะอุบัติเหตุ แต่มาจาก 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายใน ได้แก่ ประวัติการหกล้ม ความดันโลหิตต่ำ มีความผิดปกติของการทรงตัว มีประวัติใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท เป็นต้น ปัจจัยภายนอก อาทิ พื้นต่างระดับ พื้นมีน้ำขัง สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
แนวทางที่จะช่วยลดการหกล้มในผู้สูงอายุได้ จำได้ง่ายๆ 4 ข้อคือ “ออก ปรับ ลด เลือก” ได้แก่ 1.ออก คือออกกำลังกาย เพิ่มความมั่นคงของการเดินและการทรงตัว 2.ปรับ คือปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านให้ปลอดภัย 3.ลด คือลดการกินยานอนหลับ และยาที่ออกฤทธิ์ต่อประสาท และ 4.เลือก คือเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม  4 ข้อนี้จะช่วยป้องกันการหกล้มอย่างเห็นผล ด้วยการใส่ใจดูแลตนเองด้วยสิ่งง่ายๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย
         พญ.ธัญญรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคเรื้องรังต่างๆ มากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้สูงอายุ หากคิดเป็นจำนวนก็เกือบ 1 ล้านคน ซึ่งสังคมจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหานี้ ซึ่งหากทุกคนดูแลและใส่ใจตนเอง ก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสูงวัยได้ ไม่ตกต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงของครอบครัวในอนาคต
Credit: โดย arphawan sopontammarak http://www.thaihealth.or.th/Content/24996-ภัยหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุป้องกันได้.html
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด