วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ !!!

วันนี้แอดมินหาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนในผู้สูงอายุมาให้ผู้อ่านลองพิจารณากันดูว่าเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหนมาลองอ่านกันดูค่ะ
การได้รับฉีดวัคซีนในวัยเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคก็เพิ่มมากขึ้น หลายท่านคงคิดว่าการได้รับวัคซีนในวัยเด็กสามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต แต่ก็มีหลายกรณีที่ความคิดดังกล่าวไม่เป็นความจริง เหตุผลก็คือท่านอาจไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เมื่อตอนท่านยังเด็กยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคใหม่ที่เกิดขึ้น ภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนอาจลดลงเมื่อเวลาผ่านไปจึงจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นใหม่ หรือเมื่ออายุมากขึ้นความไวของเชื้อในการก่อโรคมากขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม1 ดังนั้นในผู้สูงอายุก็มีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคเช่นเดียวกัน ปัจจุบันการให้วัคซีนป้องกันโรคสําหรับผู้สูงอายุได้รับความสนใจและสนับสนุนให้ฉีดมากขึ้น
ตามคำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 ได้แนะนำวัคซีนที่ควรฉีด (Recommended vaccine) ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปีขึ้นไปไว้คือ 1.วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและคอตีบ 2.วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย 3.วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี 4.วัคซีนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรด์และชนิดคอลจูเกต
1. วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (Tetanus vaccine) และโรคคอตีบ (Diphtheria vaccine)
โรคบาดทะยักเป็นโรคที่สามารถพบได้ในผู้สูงอายุ พบว่าอัตราตายจากโรคนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยที่สูงอายุ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคบาดทะยักส่วนใหญ่มักไม่มีประวัติรับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน และแม้ว่าผู้ป่วยบางคนมีประวัติได้รับวัคซีนครบ 3 ครั้ง แต่มักพบว่าผู้ป่วยมีประวัติได้รับวัคซีนครั้งสุดท้ายมานานกว่า 10 ปี2 โดยพบว่าภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักมีแนวโน้มลดลงในช่วงอายุ 15-30 ปี การให้วัคซีนทุก 10 ปี ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันดีขึ้นในผู้สูงอายุขณะเดียวกันก็พบว่าสามารถลดความรุนแรงในกรณีที่เกิดโรคบาดทะยักได้ ปัจจุบันยังพบการระบาดของโรคคอตีบในบางพื้นที่ของประเทศไทย  โดยมีรายงานถึงการเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ ประเทศไทยมีรายงานการระบาดของโรคคอตีบในหลายจังหวัดเป็นครั้งคราว โดยโรคคอตีบมักเกิดในพื้นที่ที่มีคนอพยพ ชาวเขาหรือ ชาวต่างชาติที่มีประวัติได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ ดังนั้นในทางเวชปฏิบัติจึงมีการให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและโรคคอตีบ (tetanus diphtheria toxoid :Td) ทุก 10 ปี แทนการให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ( tetanus toxoids: TT) เพียงชนิดเดียว3
2. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (Inactivated influenza vaccine)
การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่พบได้ทุกอายุ โดยทั่วไปการติดเชื้อไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงผู้ป่วยจะหายเองได้ภายใน 3-5 วันภายหลังจากมีอาการของโรค อย่างไรก็ตามการเกิดโรคนี้ในผู้สูงอายุพบว่า จะมีอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สูง รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ก็สูงที่สุดในผู้สูงอายุ การให้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามชนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้น(seasonal influenza) อุบัติการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยจะเกิดทั้งปี แต่เพิ่มมากในช่วงฤดูฝนการให้วัคซีนควรให้ในช่วงก่อนมีการระบาดในแต่ละปีซึ่งในประเทศไทยควรเริ่มให้วัคซีนก่อนช่วงฤดูฝน2 และแม้ว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่จะเป็นสายพันธุ์เดิมของวัคซีนที่เคยฉีดก่อนหน้านี้ก็จำเป็นต้องฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง3
3. วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)
ตับอักเสบบีเป็นโรคร้ายที่ส่งผลกระทบต่อตับซึ่งเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2009 มีผู้ติดเชื้อตับอักเสบบีประมาณ 38,000 คน  มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับซึ่งเกิดจากตับอักเสบบีประมาณ 2,000 ถึง 4,000 คนในแต่ละปี วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีสามารถป้องกันโรคตับอักเสบบีและอันตรายต่างๆ ที่ตามมาหลังจากการติดเชื้อตับอักเสบบีได้ รวมถึงมะเร็งตับและตับแข็ง วัคซีนให้ความคุ้มครองจากการติดเชื้อตับอักเสบบีเป็นระยะยาว อาจถึงตลอดชีวิตได้1 ดังนั้นผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีควรได้รับการฉีดวัคนี้ ในกรณีบุคคลที่เกิดภายหลังปี พ.ศ.2535 มีความประสงค์จะฉีดวัคซีน โดยที่ไม่แน่ใจ หรือ ไม่ทราบประวัติการรับวัคซีนที่ชัดเจน ให้ฉีดวัคซีน 1 เข็ม แล้วตรวจ AntiHBs antibody ภายหลังการฉีดวัคซีน 2-4 สัปดาห์ หากพบว่าระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่า 10 IU/ml แสดงว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีก3
4. วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรด์ (23-valent pneumococcal polysaccharide vaccine12 ; PCV 23) และชนิดคอนจูเกต(13-valent pneumococcal conjugate vaccine; PCV-13)
การติดเชื้อนิวโมคอคคัส (S.pneumoniae) เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่รุนแรงในผู้สูงอายุ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อที่เยื้อหุ้มสมอง โดยพบว่าร้อยละ 90 ของเชื้อนิวโมคอคคัส ที่ก่อโรคติดเชื้อรุนแรงเป็นเชื้อที่เป็นซีโรทัยพ์ชนิดที่มีอยู่ใน PCV-23 ประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรปได้มีการศึกษาถึงความคุ้มทุน (cost-effectiveness) ของวัคซีนในการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงพบว่าการใช้วัคซีนจะสามารถลดการติดเชื้อรุนแรงและมีความคุ้มทุนในการใช้วัคซีนป้องกันโรคในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี2 โดยแนะนำให้ฉีด 1 ครั้ง ในช่วงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป3 ส่วนวัคซีน PCV-13 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในผู้สูงอายุ แต่ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงภายหลังการฉีดวัคซีนประมาณ 5-10 ปี4 ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็ม ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป3
จะเห็นว่าการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่มีความจำเป็นอย่างมาก ดังนั้นการมีความรู้ที่ดีเกี่ยวกับวัคซีนจะทำให้ผู้สูงอายุเข้าใจถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีนและได้รับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม ซึ่งการฉีดวัคซีนถือเป็นการป้องกันและลดความรุนแรงของการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียจากการเกิดโรคที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นผู้สูงอายุควรไปรับการฉีดวัคซีน
Cr. https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=37
เอกสารอ้างอิง
1. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Immunization Schedules for Adults; 2014. [Online] [Cited 1 December 2014]. Available from: http://www.cdc.gov/vaccines/schedules/easy-to-read/adult.html#vaccines.
2. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร. วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย [Online]. 2012 [Cited 1 December 2014]. Available from:http://pidst.or.th/vaccine_article_detail.php?id=80.
3. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557.
4. โอฬาร พรหมาลิขิต. วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย [Online]. 2012 [Cited 1 December 2014]. Available from: http://pidst.or.th/vaccine_article_detail.php?id=80.